กศน.ตำบลพานทอง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี

วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประวัติ กศน.ตำบลพานทอง

      กศน.ตำบลพานทอง เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2546 ในลักษณะของศูนย์การเรียนชุมชนตำบลพานทอง (ศรช.ตำบลพานทอง) ได้จัดตั้งขึ้นครั้งแรก ที่สำนักงานเทศบาลตำบลพานทอง หมู่ที่ 10 และต่อมาได้ย้ายมาใช้ศูนย์สงเคราะห์ราษฎรบ้านท่าพลับพลา หมู่ที่ 3 ตำบลพานทองเนื่องจากอาคารของเทศบาลอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ไม่เหมาะสมที่จะจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับชุมชนจึงได้ประสานทางชุมชนหมู่บ้านท่าพลับพลาโดยมีนายบุญปลอด สิงห์โตทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 (ในสมัยนั้น) และนางฐิติรัตน์ สุขทนารักษ์ ประธานชุมชน ขออนุญาตใช้อาคารแห่งนี้เป็นที่ทำการและจัดกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียนในรูปแบบต่าง ๆ หลังจากที่มีการจัดกิจกรรมอยู่อย่างต่อเนื่อง อาคารแห่งนี้ยังเป็นศูนย์รวมการจัดกิจกรรมของหลายหน่วยงานเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด เช่น ศูนย์สาธารณสุขมูลฐาน , หน่วยประสานงานพลังแผนดินเอาชนะยาเสพติด , หน่วยชุมชนย่อยที่ 2 , ชมรม To be number one
     สำหรับอาคารแห่งนี้เป็นอาคารเอกเทศ สร้างโดยงบพัฒนาจังหวัดชลบุรี ปี 2538 โดยการผลักดันของ ส.ส.เสาวลักษณ์ สุริยะทิพย์ จากงบมิยาซาวา และจากนายชูเกียรติ จิตรประวัติ อดีนายกเทศมนตรีตำบลพานทอง จำนวนทั้งสิ้น 260,000 บาท และได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับโดยการใช้งบประมาณสนับสนุนจากชุมชน โครงการยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข นักศึกษา กศน.ตำบลพานทอง และโครงการอื่น ๆ มาพัฒนาอาคารให้ดูดี และสวยงามถึงปัจจุบัน
กศน.ตำบลพานทอง 
ข้อมูลประวัติความเป็นมาของตำบลพานทอง
ตำบลพานทองในอดีต
  ย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 200 ปีเศษ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระเจ้าตากสินได้นำทหารในบังคับบัญชาฝ่าวงล้อมทหารพม่าหลบหนีจากรุงศรีอยุธยาได้กวาดต้อนครัวเรือนรายทางมาตั้งเมืองและทหารชั่วคราวขึ้นที่ตำบลโป่งตามุข ตำบลโป่งตามุขเป็นเมืองควบคุมหัวเมืองชายทะเลมีตัวเมืองตั้งอยู่บริเวณวัดโป่งตามุข ตำบลหนองหงส์ในปัจจุบัน
   ในสมัยนั้นมีพานป่าคนหนึ่งชื่อ ทอง เป็นชาวอยุธยาได้อพยพครอบครัวและญาติพี่น้องหนีพม่ามาตั้งภูมิลำเนาทำมาหากิน เลี้ยงชีพในการล่าสัตว์อยู่ที่หมู่บ้านเล็กๆ ริมคลองบางปะกง (ปัจจุบันเรียกคลองพานทอง) ตรงระหว่างตำบลบ้านเก่ากับตำบลบางนางในปัจจุบัน และพร้อมกันนั้นนายพรานทองได้ทำหน้าที่เป็นจารชนสืบข่าวของข้าศึกถวายพระเจ้าตากสิน และได้รวบรวมกำลังเข้าร่วมกับพรเจ้าตากกอบกู้อิสรภาพขับไล่พม่า จนกรุงศรีอยุธยาเป็นเอกราชตามเดิม เมื่อเสร็จศึกสงครามแล้วนายพรานทองจึงได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง ณ ริมคลองสายเดียวกันให้ชื่อว่า วัดพรานทอง เพื่อเป็นการล้างบาปที่ตนเองมีอาชีพล่าสัตว์และได้อพยพครอบครัวมาประกอบอาชีพเป็นหลักเป็นฐานอยู่ในบริเวณใกล้วัดพรานทองนี้ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านพรานทอง และเรียกคลองซึ่งแยกจากคลองบางปะกงว่า คลองพรานทอง แต่ด้วยเหตุที่ชาวบ้านออกเสียงควบกล้ำ ร และ ล ไม่ชัดเจน ฉะนั้นคำว่า วัดพรานทอง บ้านพรานทอง และ คลองพรานทอง จึงได้เพี้ยนเป็น วัดพานทอง บ้านพานทอง และ คลองพานทอง ดังที่เห็นในปัจจุบัน